วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ควรรู้

เรื่องน่ารู้
กฎหมายอินเตอร์เน็ต ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน วันอังคารที่ผ่านมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติอนุมัติในหลักการ กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นกฎหมายเสนอโดยฝ่ายรัฐบาล สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้มีหลายประเด็น อาทิ ผู้กระทำการต่างๆ ให้ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานตามคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือทำให้การทำงานผิดพลาด ถือว่ามีความผิดและมีบทลงโทษชัดเจน หมายความว่าถ้าผ่านสามวาระแล้ว ต่อไปใครปล่อยไวรัสคอมพิวเตอร์ลงในระบบอินเตอร์เน็ท จะมีกฎหมายชัดเจนที่จะเล่นงานลงโทษ ซึ่งก็เป็นเรื่องดีแต่ไม่รู้กฎหมายนี้จะไปเล่นงานพวกที่ทำอยู่ในต่างประเทศได้แค่ไหน และบทบัญญัติในเรื่องนี้คงจะครอบคลุมถึงผู้มีเจตนาทำให้เว็บเพจน์ของคนอื่นมีปัญหาด้วย เว็บไซต์ไหนวิพากษ์วิจารณ์ดีนัก ก็อาจจะมีมือดีเขียนโปรแกรมเข้าไปทำให้ระบบการทำงานเว็บไซต์นั้นรวน ต่อไปจะมีกฎหมายมาเล่นงานพวกนี้ การใช้วิธีการใดๆเข้าล่วงรู้ข้อมูล แก้ไข หรือทำลายข้อมูลของบุคคลอื่นในระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ หรือใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลของบุคคลอื่นอันเป็นเท็จ หรือมีลักษณะอันลามก อนาจาร ก่อให้เกิดความเสียหาย กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของรัฐรวมถึงความสงบสุขและศีลธรรมของประชาชนอย่างนี้ก็ผิดตามกฎหมายใหม่ด้วย (ข้อมูลจากผู้จัดการออนไลน์)อ่านเผินๆ แนวคิดที่จะออกกฎหมายดีมากแต่ก็ไม่ทั้งหมด ส่วนที่เห็นด้วยก็ คือ "การใช้วิธีการใดๆเข้าล่วงรู้ข้อมูล แก้ไข หรือทำลายข้อมูลของบุคคลอื่นในระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ หรือใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลของบุคคลอื่นอันเป็นเท็จ หรือมีลักษณะอันลามก อนาจาร" พฤติกรรมเหล่านี้สมควรที่จะมีกฎหมายควบคุมและลงโทษ เพราะเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น ทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น และเรื่องลามก อนาจารนั้นก็ทำลายศีลธรรมอันดีในสังคม ส่วนประเด็นเผยแพร่ข้อมูลแล้วก่อให้เกิดความเสียหายกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของรัฐ นี่สิ ท่านกำลังออกกฎหมายกว้างไปหรือเปล่า ถ้าจะเอาตามนี้แล้วสิทธิ และเสรีภาพในการแสดงความคิดของประชาชนจะให้ทำได้เฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์เท่านั้นหรือ เป็นเรื่องที่ล่อแหลมต่อการกระทำความผิดมาก เพราะสื่อทุกวันนี้ส่วนใหญ่ทำแบบมัลติมีเดีย คือ งานชิ้นเดียวกันอาจปรากฏในสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ โทรทัศน์ รวมถึงอินเตอร์เน็ทด้วย ที่สำคัญมีบรรทัดฐานหรือมีอะไรมาวัดว่า การเผยแพร่ข้อมูลอย่างไรกระทบหรือไม่กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของรัฐ โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นทางเศรษฐกิจนั้นมักจะชี้ทิศทางตามฐานข้อมูล และระดับความเข้าใจของคนที่วิพากษ์วิจารณ์ อย่างทุกวันนี้ข้อมูลบางอย่างบ่งบอกว่า การลงทุนของต่างประเทศโดยตรงแต่ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เม็ดเงินที่จะเข้ามาจะไม่ได้มากอย่างที่คิด การจ้างงานจะไม่เป็นไปตามคาด การก่อสร้าง การซื้อขายหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์จะลดน้อยลง เพราะคนเข้ามาลงทุนน้อย บางคนอาจจะให้เหตุผลโดยคิดเอาเอง หรือทำการสำรวจความเห็นมา แล้วระบุว่า เขาไม่มาลงทุนเพราะไม่มั่นใจเสถียรภาพของรัฐบาล รัฐบาลไม่ได้มากจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการใช้กำลังยึดอำนาจวิจารณ์และเผยแพร่อย่างนี้ผ่านอินเตอร์เน็ท ใครจะมาตัดสินว่าคนวิจารณ์และเผยแพร่จะติดคุกหรือไม่ ผมว่ากฎหมายที่จะออกมานี้จะต้องพิจารณาให้ดี ในเรื่องกระทบสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพราะนี่เป็นพื้นฐานของวิถีประชาธิปไตย ความสำคัญของกฎหมายน่าจะอยู่ที่ สามารถนำกฎหมายที่ออกมาใหม่ไปรองรับการกระทำความผิดเกี่ยวกับสิทธิ์ของบุคคลอื่น มากกว่าที่จะมุ่งไปที่จำกัดเสรีภาพของบุคคลกฎหมายควรจะออกมาในลักษณะ ใครเข้าข่ายหมิ่นประมาทตามกฎหมายที่มีอยู่ ไปเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ท ก็ต้องมีโทษเหมือนหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญาที่มีอยู่ (ความจริงต้องเลิกกฎหมายหมายหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญาได้แล้ว) หรือผิดฐานละเมิดตามกฎหมายแพ่งที่มีอยู่ ก็ต้องผิดเหมือนกัน เพราะความจริงแล้วเราต้องการจะให้มีกฎหมายชัดๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ของบุคคลโดยทั่วไปเป็นสาระสำคัญมิใช่หรือ การกระทำความผิดด้านความมั่นคง ก็ต้องถือว่าผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงด้วย ถ้ามีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นภัยความมั่นคง และพฤติกรรมนั้นเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ท ก็ต้องมีความผิดเช่นกัน เพราะอินเตอร์เน็ทก็คือสื่อชนิดหนึ่ง


ที่มา
http://www.sci.nu.ac.th/information-it/index.php?topic=3515.0

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น