วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

รู้ทัน

รู้ทันการหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ต


ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา คำว่าอินเตอร์เน็ต ได้กลายเป็นคำที่แทบไม่มีใครไม่รู้จัก เหตุเพราะอินเตอร์เน็ตได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนจำนวนมากในโลกนี้ไปแล้ว การใช้อินเตอร์เน็ตในปัจจุบันได้ขยายวงกว้างออกไปมากขึ้น โดยได้ก้าวล่วงเข้าไปในทุกสาขาอาชีพ ด้วยคุณสมบัติการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากๆ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว และใช้ต้นทุนในการลงทุนต่ำ ทำให้อินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาขององค์กรทั้งหลาย ได้มีความพยายามนำอินเตอร์เน็ตมาใช้เพื่อประโยชน์สำหรับหน่วยงานของตนในรูปแบบต่างๆ จากการศึกษาเรื่องข้อมูล สถิติเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ตเมื่อกลางปี พ.ศ.2544 มีการประมาณการว่าจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกสูงถึง 513 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 8.46 ของประชากรทั่วโลก สำหรับข้อมูลจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทย ระหว่างเดือนมกราคม ถึงมีนาคม 2544 สำรวจโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ พบว่ามีจำนวน 3.5 ล้านคน ซึ่งในขณะที่สถิติการใช้อินเตอร์เน็ตมีการเพิ่มตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็นำไปสู่ปัญหาของการนำอินเตอร์เน็ตไปใช้ในแง่ลบมากขึ้นเช่นกัน โดยการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง อย่างไรก็ดี การที่ประชาชนทั่วไปได้รับทราบข้อมูลที่เกี่ยวกับรูปแบบการหลอกลวงก็เป็นการดีที่อาจทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อการถูกหลอกน้อยลงได้ รูปแบบของการหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ต จากการสำรวจของ National Fraud Information Center 5 อันดับที่น่าสนใจมีดังนี้ 1.การประมูลสินค้าทางอินเตอร์เน็ตโดยหลอกลวง (Internet Auction Fraud) การประมูลสินค้าทางอินเตอร์เน็ต เป็นวิธีการซื้อขายสินค้าที่ได้รับความนิยมและเป็นช่องทางการติดต่อซื้อขายสินค้าที่สะดวกรวดเร็ว ส่วนการหลอกลวงจะมีหลายรูปแบบ เช่น ผู้ขายไม่ส่งมอบสินค้าที่ผู้ซื้อประมูลได้ เพราะไม่มีสินค้าอยู่จริง การหลอกลวงโดยปั่นราคาซื้อขาย ผู้ขายหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ขายจะเข้าเสนอราคาเพื่อประมูลสินค้าของตน เพื่อให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น ทำให้ผู้ซื้อต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงเกินจริง เป็นต้น สำหรับวิธีการป้องกันผู้ซื้อควรตรวจสอบว่าเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการด้านการประมูลทางอินเตอร์เน็ต (คนกลาง) มีวิธีการระบุตัวบุคคลที่เป็นผู้ขาย (หรือผู้ซื้อ) ดีพอหรือไม่ กล่าวคือ มีการเก็บประวัติรายละเอียดของผู้ขายที่สามารถติดต่อได้ หรือพิจารณาว่าผู้ให้บริการด้านการประมูลทางอินเตอร์เน็ต (คนกลาง) มีนโยบายการประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง 2.การซื้อขายสินค้าทั่วไป (General Merchandise) เป็นการซื้อขายสินค้าที่ไม่ได้ผ่านการประมูล แต่สินค้าที่เสนอขายนั้น เมื่อมีการซื้อขายกันแล้วไม่มีการส่งสินค้าจริงหรือรายละเอียดที่ให้ไว้นั้นไม่ถูกต้อง วิธีการป้องกันในส่วนของการหลอกลวงรูปแบบนี้ มีหลักการง่าย ๆ อยู่ 4 ประการ คือ 1 การรู้จักบริษัทที่เราจะทำการติดต่อซื้อขายด้วยอยู่ เพื่อให้แน่ใจควรติดต่อกับบริษัทที่อยู่ในประเทศหรือบริษัทที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จัก มากกว่าที่จะเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่บนโลกอินเตอร์เน็ตและไม่คุ้นเคย 2 การเข้าใจข้อเสนอ นั่นคือ การตรวจสอบข้อเสนอที่มีการแจ้งไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน และควรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนที่ไม่แน่ใจ และควรมีการตรวจสอบราคา วันที่จัดส่ง เงื่อนไขในการคืนการยกเลิกสัญญา และการรับรองสินค้า และควร print ข้อมูลเหล่านั้นเก็บไว้ด้วย 3 การตรวจสอบประวัติของบริษัทที่เราทำการติดต่อ โดยสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท 4 ไม่ควรรีบตัดสินใจ ควรระมัดระวัง ใช้เวลาในการตัดสินใจให้ดี ความรีบเร่งอันเกิดจากการกดดันของผู้ขายนั้น อาจทำให้ตัดสินใจพลาดได้ง่าย 3.การหลอกลวงโดยเสนอให้เงิน จากประเทศไนจีเรีย (Nigerian Money Offers) การหลอกลวงแบบนี้ ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจะได้รับข้อความจากจดหมายหรืออีเมล์ จากบุคคลที่กล่าวอ้างว่ามีความสำคัญในประเทศไนจีเรีย เพื่อขอช่วยเหลือในการโอนเงินจำนวนมากไปยังต่างประเทศ โดยผู้บริโภคจะได้รับเงินส่วนแบ่ง จำนวนนับล้านเหรียญ ดอลลาร์สหรัฐ ฯ การป้องกันผู้บริโภคไม่ควรหลงเชื่อบุคคลอื่นที่อ้างตัวและเสนอจะให้ผลประโยชน์จำนวนมหาศาลโดยไม่มีความเสี่ยงเช่นนี้ และไม่ควรเปิดเผยข้อมูลบัญชีธนาคารของตนแก่ผู้อื่นด้วย

  • หลังจากที่ เราได้ทราบรูปแบบการหลอกลวงไป 3 รูปแบบในตอนที่แล้ว คราวนี้เรามาดูรูปแบบที่เหลือกันเลยดีกว่าค่ะ 4.Phishing Phishing คือ วิธีการหลอกลวงในรูปแบบของการปลอมแปลงอี-เมล์ และทำการสร้างเว็บไซต์ปลอม เพื่อทำการหลอกลวงให้เหยื่อหรือผู้รับอี-เมล์เปิดเผยข้อมูลทางด้านการเงินหรือข้อมูลส่วนบุคคลอื่น ๆ เช่น ข้อมูลของหมายเลขบัตรเครดิต บัญชีผู้ใช้และรหัสผ่าน หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือข้อมูลอื่น ๆ วิธีการป้องกันและรับมือกับการถูกโจมตีแบบ phishing 1.หยุดคิดและพิจารณาข้อมูลที่ได้รับทางอี-เมล์ หรือข้อมูลที่เข้าไปดูในเว็บไซต์ทุกครั้ง 2.ควรลบข้อมูลที่น่าสงสัยทิ้งทันที 3.หากมีความจำเป็นต้องกรอกหรือส่งข้อมูลใดทางเว็บไซต์ ต้องพิจารณาความน่าเชื่อถือของเว็บดังกล่าวว่ามีตัวตนหรือการรับรองหรือไม่ หากไม่แน่ใจควรติดต่อไปยังเจ้าของเว็บไซต์หรือเจ้าของสถาบันการเงินดังกล่าว เพื่อสอบถามข้อมูลและยืนยันข้อมูลก่อนดำเนินการใด ๆ 4.ไม่ควรเข้าไปในเว็บไซต์หรือรันไฟล์ที่แนบมากับอี-เมล์ ซึ่งมาจากบุคคลที่ไม่รู้จัก หรือไม่มั่นใจว่าผู้ส่งเป็นใคร หรือไม่ทราบว่าไฟล์ดังกล่าวเป็นไฟล์อะไร 5.ติดตั้งโปรแกรมปรับปรุงช่องโหว่ ของทุกซอฟแวร์ที่มีการใช้อยู่ในเครื่องของท่านอยู่เสมอ 6.ติดตามข่าวสารและการแจ้งเตือนทางด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยคอมพิวเตอร์ 5.Information/Adult service เป็นกรณีของการให้บริการที่ผู้ให้บริการนั้นไม่มีการแจ้งราคาหรือรายละเอียดไว้ หรือแจ้งไว้แต่ไม่ถูกต้อง ซึ่งวิธีการป้องกันก็ให้วิธีการแบบเดียวกันกับการป้องกันการถูกหลอกลวงจากการซื้อขายสินค้าทั่วไปคือ การรู้จักบริษัทที่เราจะทำการติดต่ออยู่ การเข้าใจข้อเสนอแนะ การตรวจสอบประวัติของบริษัทที่เราทำการติดต่อ และ ไม่ควรรีบตัดสินใจ นั่นเอง นอกจากรูปแบบที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีการหลอกลวงแบบอื่นๆที่กำลังเป็นที่แพร่หลาย ได้แก่ 1. การหลอกลวงให้ประกอบธุรกิจที่บ้าน (Work-at-Home) 2. การให้บริการอินเทอร์เน็ตโดยหลอกลวง (Internet Service Provider Scams) 3. การใช้บัตรเครดิตโดยไม่ได้รับอนุญาต (Credit Card Fraud) 4. การเข้าควบคุมการใช้โมเดมของบุคคลอื่น (International Modem Dialing/ Modem Hijacking 5. การหลอกลวงให้ใช้บริการเกี่ยวกับเว็บไซต์ (Web Cramming 6. การหลอกลวงโดยใช้การตลาดหรือการขายแบบตรง (Multilevel Marketing Plans/ Pyramids 7. การหลอกลวงให้จดทะเบียนโดเมนเนม (domain name registration scams) 8. การหลอกลวงโฆษณาหรือขายยามหัศจรรย์ (miracle products) อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงในรูปแบบใด สิ่งที่สามารถป้องกันตัวเองที่ดีที่สุดของผู้บริโภคก็คือ การใช้วิจารณญาณของผู้บริโภคเองในการพิจารณาไตร่ตรองข้อมูลที่ได้รับมาอย่างรอบคอบเสมอ การไตร่ตรองข้อมูลนี้เองที่จะเป็นเสมือนเกราะป้องกันผู้บริโภคไมให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพได้ง่าย ขณะเดียวกันการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับพฤติกรรมการกระทำผิดที่เกิดขึ้นก็จะเป็นเสมือนสิ่งที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งของเกราะได้อีกชั้นหนึ่ง
ที่มา :
http://www.dsi.go.th/ http://www.payap.ac.th/
www.deedeejang.com/article/forward/00570.html

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น